ฟิล์มยืด ฟิล์มหด
โรงงานพลาสติก ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์ | K.V.J. Union Co., Ltd.

News & Updates

ฟิล์มยืด ฟิล์มหด

ฟิล์มยืด

ปัจจุบัน ฟิล์มยืด (stretch fllm) ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างการใช้งานที่เห็นได้ชัดก็คือ ใช้ห่อถาดอาหารสดและอาหารชุดกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีวางขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป นอกจากนั้น ยังมีการนำ ฟิล์มยืดมาใช้กับสินค้าอุตสาหกรรมชนิดอื่นเพื่อรวมสินค้า เป็นหน่วยเดียวกัน รวมทั้งการห่อรัดสินค้าบน แท่นรองรับ สินค้าเพื่อการลำเลียงขนส่ง การใช้ฟิล์มยืดในการหุ้มห่อสินค้าเพื่อประโยชน์ ในการป้องกันสิ่งปนเปื้อน ช่วยยืดอายุ ในการวางขาย ทั้งผู้บริโภคยังสามารถมองเห็นและจับต้องตัวสินค้าได้ หรือเพื่อการรวมหน่วย สินค้าให้เป็นหน่วย ใหญ่ อันช่วยอำนวยความสะดวกต่อการลำเลียงขนส่งและเก็บรักษา

ฟิล์มยืดคืออะไร

ฟิล์มยืดก็คือ ฟิล์มพลาสติกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะคือ ยืดหยุ่นได้ ฟิล์มประเภทนี้มีความเหนียวและยืดหยุ่นตัวสูง ฟิล์มยืดนี้จะเกาะติดกันเองได้ เมื่อดึงฟิล์มให้ยืดเล็กน้อย ทำให้สะดวกในการใช้ห่อรัดสินค้า
เนื่องจากไม่ต้องใช้ ความร้อนทำให้ฟิล์มเกาะติดกัน จึงใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีกับสินค้าที่เสีย ง่ายเมื่อถูกความร้อน เช่น พวกผักและผลไม้ และอาหารสดต่างๆ เม็ดพลาสติกที่นิยมนำมาผลิตเป็นฟิล์มยืดก็คือ PVC (พอลิไวนิลคลอไรด์), PE (พอลิเอทีลีน) และ PP (พอลิโพรพิลิน)
ในกระบวนการผลิตฟิล์มยืดจำเป็นต้องใส่สารเติมแต่ง ได้แก่ สารเกาะติด (cling agent) เพื่อช่วยให้ฟิล์มยึดเกาะติดกันได้ดีเมื่อใช้ห่อสินค้า สารป้องกัน ออกซิเดชัน เพื่อป้องกันการสลายตัวของพลาสติกในระหว่างการผลิต และสารอื่นๆ เพื่อการใช้งานเฉพาะ เช่น สารป้องกันการเกาะติด (antiblock agent) เพื่อป้องกันชิ้นฟิล์มหรือม้วนฟิล์มเกาะติดกันแน่น และสารป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV inhibitor) เพื่อยืดอายุของฟิล์มที่ใช้ งานนอกอาคาร เป็นต้น
การใช้ฟิล์มยืดห่อสินค้าสามารถทำได้ง่าย ทั้งการห่อด้วยมือในร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาดเล็ก หรือใช้เครื่องมือในการห่อ เมื่อสินค้ามีปริมาณมากและต้องการความรวดเร็ว หรือใน กรณีการห่อ รวมสินค้าเป็นหน่วยใหญ่เพื่อการลำเลียงขนส่งด้วยความสะดวกดังกล่าว จึงมีการใช้ ฟิล์มยืดกัน อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ฟิล์มยืดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์เป็นเรื่อง สำคัญที่ ผู้ใช้ไม่ควรมองข้ามไป คุณสมบัติสำคัญของฟิล์มยืดซึ่งเกี่ยวข้องต่อการเลือกใช้ ได้แก่ ความสามารถ ในการยืดตัว (stretchability), แรงยืด (stretchforce), ความยืดหยุ่น (elasticity) หรือ (restretch force), การต้านแรงดึง (breaking strength) อัตราการซึมผ่านของไอน้ำ (water vapour transmission rate) และอัตราการซึมผ่านของก๊าซ (gas tranmission rate) ในกรณีของผลิตภัณฑ์ เพื่อการขายปลีก เช่น อาหารซึ่งบรรจุในถาด พลาสติก มักใช้ฟิล์มยืดชนิด PVC และ PPเนื่องจากมี ความใสและไม่จำเป็นต้องมีความเหนียวมากเท่าใดนัก โดยทั่วไปฟิล์ม PVC จะได้รับความนิยม สูงกว่าฟิล์ม PP เพราะราคาถูกกว่า ในกรณีของผลิตภัณฑ์รวมหน่วย เพื่อการขนส่งมักใช้ฟิล์มชนิด PE ทั้งความหนาแน่นต่ำ (low density PE, LDPE) และความหนาแน่นต่ำเชิงเส้นตรง (linear low density PE, LLDPE) โดยเฉพาะฟิล์ม LLDPE มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกที เพราะมีความแข็งแรงและการยืดตัวสูงกว่าฟิล์มชนิดอื่น

การเลือกใช้ฟิล์มยืดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์

ฟิล์มยืด เป็นฟิล์มพลาสติกที่มีคุณสมบัติเฉพาะคือ ยืดหยุ่นได้ ใช้ห่อรัดสิ่งของเข้าด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์จากการสัมผัส กับสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ไอน้ำ อากาศ ฯลฯ หรือเพื่อการรวมหน่วยผลิตภัณฑ์ให้เป็นหน่วยใหญ่ ซึ่งจะช่วยอำนวย ความสะดวกในการลำเลียง ขนส่งและเก็บรักษา พลาสติกที่นิยมใช้ผลิตฟิล์มยืด ได้แก่ LDPE, LLDPE, EVA, PVC และ PP ซึ่งพลาสติกแต่ละชนิดจะให้คุณสมบัติต่างกัน การเลือกใช้ฟิล์มยืด ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์โดยที่สามารถห่อรัดผลิตภัณฑ์ได้ตลอดอายุการใช้งานนั้น มีข้อควรคำนึงถึงในสภาวะการใช้งาน ซึ่งได้แก่

อุณหภูมิ

อุณหภูมิแวดล้อมที่สูง มีผลให้ฟิล์มยืดที่ห่อรัดผลิตภัณฑ์เกิดการคลายตัว โดยทั่วไปภายใต้สภาวะอากาศปกติ ฟิล์ม LDPE, EVS และ LLDPE จะสามารถรักษาแรงห่อรัดไว้ได้ร้อยละ 6065 ของแรงห่อรัดเริ่มแรก ในขณะที่ฟิล์ม PVC สามารถรักษาไว้ได้เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น แต่ถ้าอุณหภูมิ แวดล้อมต่ำจะทำให้คุณสมบัติของการเกาะติดความเหนียว และการยืดตัวลดลง ฟิล์มยืดส่วนใหญ่ไม่ควรใช้งานที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า 30 ํซ. และสูงกว่า 54 ํซ.

ความชื้น

ในบางครั้งความชื้นสูงจะทำให้การเกาะติดของฟิล์มยืดดีขึ้น เพราะสารที่เติมลงไปเพื่อให้ฟิล์มเกาะติดกันนั้นทำงานได้ดี โดยการดูดความชื้นจาก บรรยากาศแวดล้อม ด้วยเหตุนี้การใช้งานที่สภาวะแวดล้อมชื้น จึงมักก่อปัญหาการแยกฟิล์มออกจากกันได้ยาก

ฝุ่นละออง

ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกที่เกาะติดที่ผิวฟิล์มจะทำให้การเกาะติดของฟิล์มลดลง ถ้าสภาวะการใช้งานไม่สามารถหลีกเลี่ยง ปัญหาของฝุ่นละอองและ สิ่งสกปรกได้ จำเป็นต้องใช้กาวหรือความร้อน หรือการผูกรัดช่วยให้ฟิล์มยืดติดกันได้ดีขึ้น

อุปกรณ์หรือเครื่องมือในการห่อรัด

อุปกรณ์หรือเครื่องมือในการห่อรัดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของฟิล์มยืดที่ จะใช้และลักษณะของสินค้าที่จัดเรียงบนแท่นรองรับสินค้า

ลักษณะของผลิตภัณฑ์

รูปทรงความมั่นคงในการเรียงซ้อน ความเปราะบาง และความสามารถในการรับแรงกดของผลิตภัณฑ์ มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเลือกใช้ฟิล์มยืด ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาและรูปทรงสม่ำเสมอ จะห่อรัดได้ง่ายกว่าและใช้ฟิล์มน้อยกว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากและรูปทรงไม่สม่ำเสมอ หากผลิตภัณฑ์มีส่วนแหลมคมด้วย ฟิล์มยืดที่ใช้ต้องสามารถป้องกันการทิ่มทะลุได้ดีด้วย

ความเข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์

ฟิล์มยืดที่ใช้ห่อผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไม่มีการห่อหุ้ม ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์อาหาร หากใช้ฟิล์มยืด PVC ต้องควบคุม ปริมาณของวีซีเอ็มโมโนเมอร์และสารพลาสติกไซเซอร์ ซึ่งอาจเคลื่อนตัวออกจากฟิล์มยืดและสัมผัสอาหารได้

วิธีการหีบห่อ

วิธีการหีบห่อมีส่วนอย่างยิ่งต่อการเลือกใช้ฟิล์มยืด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นเหลี่ยมและมีมุมแหลมคม อาจ ทำให้ฟิล์มยืดแตกใน ระหว่างการห่อ ซึ่งป้องกันได้โดยการใช้วัสดุ เช่น โฟมขึ้นรูปหรือแผ่น กระดาษ ลูกฟูกหุ้มตรงเหลี่ยมและมุมนั้น เพื่อช่วยในการห่อ

ฟิล์มหด

ในระบบการจัดจำหน่ายสินค้าปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการขายส่งหรือขายปลีกก็ตาม การบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ฟิล์มหด เพื่อห่อรัดสินค้ากำลังได้รับ ความนิยมสูง โดยใช้กับสินค้านานาชนิดจำพวกเครื่องอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจาก อำนวยประโยชน์หลายประการ อาทิ ใช้รวมสินค้าหลาย ชิ้นให้เป็นหน่วยใหญ่ ซึ่งช่วยให้ความสะดวกต่อการ ลำเลียงขนส่งและเก็บรักษา ใช้ห่อสินค้า เช่น สมุด กระดานไวท์บอร์ด เครื่องเขียนต่างๆ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง ใช้หุ้มรัดสินค้าขายปลีกกับของแถม เข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมการขาย และใช้หุ้มรัดรอบฝาขวดเพื่อกันการขโมยเปิด เป็นต้น ฟิล์มหดนี้มาจากศัพท์เทคนิคว่า “shrink film” ซึ่งเรียกตามคุณสมบัติของฟิล์มนั่นเอง กล่าวคือ มันจะหดตัวเมื่อ ได้รับลมร้อน วัสดุที่ใช้ทำฟิล์มหด ได้แก่ พลาสติกที่โมเลกุลถูกทำให้เรียงตัวกันในระหว่างการผลิตฟิล์ม ชนิดของ พลาสติกที่นิยมใช้ที่สุดคือ พอลิไวนิลคลอไรด์ (polyvinyl chloride-PV) และพอลิเอทีลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene-LDPE)

ในการใช้งานมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้ นำฟิล์มดังกล่าวมาทำเป็นถุงแล้วสวมครอบสินค้าอย่างหลวมๆ จากนั้นนำไปผ่านลมร้อนซึ่งได้มาจาก เครื่องเป่าผม ธรรมดาหรือปืนก๊าซหรืออุโมงค์ร้อนก็ได้ ขึ้นกับขนาดของสินค้าและความเร็วที่ต้องการ เป็นผลให้ฟิล์มหดตัวและรัดแน่นกับสินค้าที่สวมอยู่
ปัจจัยในการเลือกใช้ฟิล์มหดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของฟิล์มหดที่ใช้ เป็นหลัก อาทิ ความหนา ความเหนียว ความแข็งแรงของรอยปิดผนึก ความใส อุณหภูมิในการหดตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้อง ควบคุมอุณหภูมิของลมร้อนและระยะเวลาที่ผ่านลมร้อนให้เหมาะสมกับชนิดของฟิล์ม การขาดความพิถีพิถัน ในปัจจัยเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เกิดการแตกขาดของฟิล์มหรือการยับย่นแล้ว ยังมีผลให้สินค้าขาดความ เชื่อถือและไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้ออีกด้วย

Credit: mew6.com

Posted in: Knowledge

Leave a Comment (0) ↓

Leave a Comment